สินค้า simulator

กิจกรรม

การแข่งขัน

แนะนำอุปกรณ์

ทดลองอุปกรณ์

Categories
บทความทั่วไป รีวิว พรีวิว

อย่าเพิ่งซื้อจอยพวงมาลัย ถ้าคุณยังไม่ได้อ่านบทความนี้ !

ใครขี้เกียจอ่าน ดูคลิปได้เลยจ้ะ

เริ่มต้นเล่น Race Simulator (Basic&Advance)

เกมส์ Race Simulator เริ่มได้รับความนิยมและรู้จักเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีผู้พัฒนาเกมส์หลายค่ายเริ่มสนใจตลาดทางด้านนี้มากขึ้น

อยากไปซิ่งแต่เมียไม่ให้

โดยในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 3 Platform ใหญ่ๆ ที่มีการพัฒนาเกมส์อย่างต่อเนื่องคือ PC / Playstation / Xbox ซึ่งในแต่ละ Platform ก็มีเกมส์ที่ Exclusive เด่นๆ เฉพาะ ฝั่ง ของตัวเองเช่นทาง PC จะมี iRacing, RaceRoom และ Playstation จะมี Grand Tourismo, Drive Club และทาง Xbox ก็จะเป็นเกมส์ Forza Motorsport, Forza Horizon และนอกจากนั้นยังมีอีกหลายเกมส์ที่ลงอยู่ใน Platform มากกว่าหนึ่งอย่างเช่น Project Cars, Assetto Corsa, Dirt Rally เป็นต้น

Grand Tourismo Sport PS4

สำหรับข้อแตกต่างกันระหว่าง Platform นั้นจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ Hardware ที่รองรับ พร้อมกับฟังก์ชั่นการอัพเกรดที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเครื่องตระกูล Console อย่าง PS/Xbox นั้นอาจจะมีอุปกรณ์เสริมที่น้อยกว่าทางฝั่งของ PC เพราะทางฝั่ง PC นั้นมี Input/Output ที่มากกว่า สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายชนิด สามารถต่อใช้งานได้แบบ 3 จอ หรือมากกว่านั้นและยังรองรับอุปกรณ์ประเภท DIY ไม่ว่าจะเป็นชุดเกียร์ Custom, เสริมเกจวัดรอบ, แป้นเหยียบไฮดรอลิก, Realtime Telemetry สำหรับนักแข่ง, ไปจนถึงระบบ Motion Simulator เต็มรูปแบบเลยทีเดียว

Driver Analysis แบบเดียวกับที่ทีมแข่งใช้งานจริง

ผู้ที่เริ่มต้นเล่นควรมองหาอะไรก่อน ?

ผมอยากให้ทุกคนเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวก่อน ไม่ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊คสักเครื่อง หรือเครื่องเล่น Console (PS3/PS4/Xbox) แล้วลองหาเกมส์ Simulator มาใช้เล่นกับเมาส์ คีบอร์ด หรือจอยสติ๊กก่อนครับ

เพราะบางทีทุ่มเงินเข้าไปสักก้อนเพื่อซื้อจอยพวงมาลัยและอุปกรณ์เทพๆ กับการคาดหวัง(ที่สูงเกินไป)ว่ามันจะสมจริงถึงขนาดที่คุณจะเล่นครั้งแรกแล้วรู้สึกโอเคไปกับมัน แต่ในบางคน..อาจจะไม่รู้สึกเช่นนั้นโดยเฉพาะคนที่เคยขับรถจริง หรือแข่งรถจริงมาก่อน

ใช่! ถ้าผมเป็นพ่อค้า ผมอาจจะบอกคุณว่าจอยตัวนี้มันสมจริงนะ หรือ Motion Sim ตัวนี้มันเทพที่สุดนะ.. แต่พอคุณได้ลองเจ้าชุดนี้(ราคาล้านกว่าๆ ที่อยู่ระหว่างขาคุณ) คุณอาจจะคิดว่ามันห่วยแตกเหลือเกินก็เป็นได้

อาการแบบนี้ มันมีสาเหตุครับ.. แต่เบื้องต้น ผมอยากให้พวกคุณได้ลองเข้าใจในระบบเกมส์ Simulator ก่อน ว่าไอ้ที่คุณจับอยู่ในมือ(พวงมาลัย) และอยู่ระหว่างขาคุณ(แป้นเหยียบ) พื้นฐานการบังคับมันอยู่ในหลักฟิสิกส์พื้นฐานของรถจริงๆครับ.. ผมเห็นหลายคนที่พยายามเลี้ยวโค้ง ด้วยความเร็ว 150 180 (หรือมากกว่านั้น) แล้วพุ่งเข้ากำแพง พร้อมกับสีหน้าผิดหวังว่าทำไมรถมันไม่เลี้ยวตามที่เราหมุนพวงนะ ?

นั่นแหละครับ” ในชีวิตจริงของคุณ ลองเอารถบ้านๆที่คุณขับไปลงโค้งร้อยอาร์ ที่สนามพีระด้วยความเร็ว 200+ (ถ้าคุณกล้าไปทำ ผมอาจจะได้ไปจุดธุป 1 ดอกกราบคุณในงานเลี้ยงหลังวันนั้นแน่)

เอาเป็นว่า ลองขับด้วยจอยสติ๊กหรือเมาส์/คีบอร์ดให้คุ้นชินกับตัวเกมส์ก่อน แล้วถ้ารู้สึกว่ามันใช่ มันสนุก แล้วค่อยลองหาพวงมาลัยที่มีระบบ Force Feedback มาใช้สักตัวครับ

Force Feedback คืออะไร ?

(หลังจากนี้ผมจะเรียกว่า FFB นะ) จริงๆแล้ว FFB ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ มันมีมาตั้งแต่สมัยยุค 80s แล้วในพวกตู้เกมส์อาเขต เช่นพวกเกมส์แข่งรถตระกูล Outrun, Hard Drivin'(1989) และตู้เกมส์อื่นๆ

ตู้เกมส์ยอดฮิตของวัยรุ่น 80s

ซึ่งทุกวันนี้ระบบ FFB ได้รับการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องจนเริ่มมีจอยพวงมาลัยที่มีระบบ FFB ออกมาตัวแรกบน PC คือของ Microsoft ก็คือรุ่น Sidewinder Force Feedback Racing Wheel และจากนั้นผู้ผลิตอื่นๆก็ได้ผลิตจอยของตัวเองขึ้นมาอีกหลายยี่ห้อไม่ว่าจะเป็น Logitech, Thrustmaster, Fanatec

ดังนั้นสิ่งที่ควรดูให้ดีก่อนการซื้อคือ “พวงมาลัยมี FFB หรือเปล่า?” จอยพวงมาลัยทุกตัวไม่ได้มีระบบนี้ทุกตัวนะครับ ผมในฐานะที่อยู่ในวงการ Race Sim และเคยขายอุปกรณ์มาก่อนเห็นเพื่อนหลายๆท่าน ได้ลงทุนซื้อจอยพวงมาลัยมือหนึ่งที่ไม่มีระบบ FFB เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาของคนขายของตามร้าน(ที่โม้)ว่าจอยรุ่นนั้น รุ่นนี้สมจริงนะ บางครั้งก็อยากจะเข้าไปเตือนหลายๆคนที่จะซื้อจอยบางรุ่นที่ไม่มี FFB มาใช้ แต่ก็กลัวจะถูกคนขายด่าเอา.. สำหรับคนที่สนใจศึกษาว่าพวงมาลัยตัวไหนมี FFB หรือไม่ ขอให้ดู List ด้านล่างนี้ครับ ถ้าหากไม่มีชื่ออยู่ใน List ขอให้ตีเป็นว่าไม่มี FFB และไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้ก็แล้วกันเนาะ 🙂

เริ่มต้นด้วยยุคสมัยของ New Gen FFB

Simucube 2 พวงมาลัย Direct Drive ยอดนิยมในตอนนี้

ยุค New Gen ที่ว่านั้นจะเริ่มในจอยพวงมาลัยยุค 2000s ขึ้นไป ซึ่งยี่ห้อที่ผมแนะนำให้คุณหาจะมีอยู่หลักๆ 3 ยี่ห้อนี้ครับ (จริงๆแล้วยังมีอีกหลายยี่ห้อนะ เช่นพวก Custom หรือ Direct Drive แต่ว่ามันจะต้องมีการปรับจูนก่อน ค่อนข้างยากสำหรับมือใหม่) ส่วนมือใหม่ อยากให้มองหาพวงมาลัยเหล่านี้ก่อน เพื่อเลี่ยงปัญหาเรื่อง Driver และการใช้งานที่ยุ่งยาก หรือไม่ Support เกมส์ครับ

Logitech รุ่น Momo , Driving Force GT(DFGT) ,Driving Force Pro ,G25 ,G27 ,G29 ,G920

Thrustmaster รุ่น Ferrari 458 Italia ,Ferrari F430 ,RGT FFB Clutch , FGT 2-in-1 Force Feedback ,T150 ,T300RS ,T500RS ,TS-PC ,TS-XW ,T-GT

Fanatec รุ่น Porsche 911 Carrera Wheel ,Porsche 911 Turbo S Wheel , Porsche 911 GT3 RS Wheel ,Porsche 911 GT2 Wheel ,Forza Motorsport CSR Elite Wheel , Forza Motorsport CSR Wheel , ClubSport Wheel Series

แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ มันต่างกันยังไงล่ะ ?

ถ้าจ่ายมากกว่าคุณก็จะได้ของที่สเปคดีกว่าคนอื่นๆ

ผมขอเริ่มจากแบ่งจอยพวงมาลัยออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ แล้วกันครับ

1.จอยพวงมาลัยระบบเฟืองทด

2.จอยพวงมาลัยระบบสายพานทด

3.จอยพวงมาลัยประเภทกำลังขับตรง (Direct Drive)

พวงมาลัยทั้ง 3 แบบนี้จะให้การตอบสนองที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ โดยปกติทั่วไป ณ ปัจจุบันนี้พวงมาลัย Logitech ยังคงเป็นพวงมาลัยเจ้าเดียวที่ยังคงทำระบบเฟืองทดอยู่ ซึ่งให้การตอบสนองที่แย่สุดในบรรดาจอยพวงมาลัยประเภท Mass Product (แต่ก็ยังดีกว่าพวกไม่มี FFB หรือตู้เกมส์หยอดเหรียญนะ) แต่มันเหมาะสำหรับผู้ที่อยากลองเข้ามาสัมผัสระบบ FFB ที่ดีและพอใช้ได้ในราคาที่ไม่โหดร้ายเกินไป (ถึงมันจะโหดร้ายกว่า Gaming Gear ประเภทอื่นก็เถอะ)

Logitech DFGT กับระบบเฟืองทดแรงมอเตอร์

ส่วนประเภทต่อมา เป็นระบบสายพานทดแรงมอเตอร์ จะสามารถพบได้ในจอยพวงมาลัยรุ่นกลางๆไปจนถึงรุ่นราคาสูง ยี่ห้อ Thrustmaster และ Fanatec ซึ่งระบบนี้ถือว่าให้การตอบสนองที่ดี สมูธ และไม่มี Deadzone หลวมๆเหมือนพวกระบบเฟืองทด หากคุณได้ลองอัพเกรดจากระบบเฟือง คุณจะรู้สึกได้ทันทีว่าระบบเฟืองนั้นมันกลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย

Thrusmaster T300RS กับระบบสายพานทดแรงมอเตอร์

และระบบสุดท้าย ระบบ Direct Drive เป็นระบบที่ใช้มอเตอร์แรงบิดสูง มีทั้ง Servo และ Step มอเตอร์ ให้การตอบสนองเหนือชั้นกว่าระบบสายพานไปอีกระดับ ระบบนี้มีทั้งแบบงาน Custom Made และแบบ Mass Prosuct เช่นยี่ห้อ Simucube ,Fanatec ,Simagic ,Augry ,SimXperience ,Frex ซึ่งราคานั้น อาจจะโหดร้ายไปสำหรับหลายๆคน และไม่น่าจะมีใครที่กล้าสั่งของแบบนี้มาใช้โดยไม่ได้ลองก่อนแน่ๆ (ส่วนมากราคาครบเซ็ทแบบเล่นได้จะอยู่ตั้งแต่แสนขึ้นไป)

แต่ก่อนนั้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ระบบนี้ถูกใช้กันในเฉพาะทีมแข่งรถใหญ่ๆ เพื่อให้นักแข่งได้ซ้อมกับระบบ Simulator เนื่องจากตัวมันสามารถทำแรงต้านได้พอๆกับการขับรถโกคาทเลยทีเดียว(สำหรับคนที่ไม่เคยขับโกคาท ผมบอกเลยว่าหนักกว่ารถบ้านมากๆครับ หนักกว่ารถกระบะไม่มีพวงมาลัยพาวเวอร์อีก) และเช่นเคย.. เมื่อคุณมีโอกาสได้ทดลองใช้ระบบ Direct Drive มันจะทำให้คุณรู้สึกว่าระบบสายพานที่คุณเคยภาคภูมิใจนั้น กลายเป็นของเล่นไปเลย…

Simucube รุ่นแรกกับระบบ Direct Drive ที่ให้แรงบิดถึง 30Nm

ทิ้งท้ายไว้สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้น

อยากให้ทุกท่านได้ลองเล่นตัวเกมส์ และทดลองอุปกรณ์ Sim ทุกชิ้นก่อนจะเอารับเข้ามาเล่นนะครับ ตอนนี้ตลาดเกมส์กำลังเติบโต อยากให้ทุกท่านที่ลองเล่น เริ่มต้นจากแนวคิดพื้นฐานที่ว่า

“หากคุณต้องการขับรถจริง คุณต้องมีการหัดและฝึกซ้อมก่อน การเล่น Sim ก็เช่นกัน ถ้าคุณขับรถยนต์จริงได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะขับรถในเกมส์ Sim ได้ เช่นกัน”

และ

“จอยเกม ไม่ได้ลอง ไม่ได้เล่น อย่าซื้อ” โดยคุณ Beaver_XT

ขอบคุณจากใจที่อ่านกันมาถึงตรงนี้ สวัสดีครับ