สินค้า simulator

กิจกรรม

การแข่งขัน

แนะนำอุปกรณ์

ทดลองอุปกรณ์

Categories
บทความทั่วไป รีวิว พรีวิว

เจาะลึก/รีวิว Logitech Driving Force GT

สวัสดีครับ ช่วงนี้กลุ่ม Race Sim กำลังคึกคัก เริ่มมีคนสนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับจอยพวงมาลัยที่มีระบบ Force Feedback กันมากขึ้นจนทำให้ตอนนี้ราคาจอยพวงมาลัยเพิ่มขึ้นมากพอสมควร (รวมไปถึงจอยพวงมาลัยที่ไม่มี Force Feedback ด้วย) ผมจึงอยากให้ผู้เล่นใหม่ทุกท่าน ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของจอยพวงมาลัยแต่ละตัวก่อนซื้อกันด้วย เพื่อไม่ให้เสียเงิน และเสียเวลาไปกับจอยที่ไม่มี Force Feedback กันครับ

เอาล่ะครับมาเริ่มกันเลยดีกว่า

ในวันนี้เรากำลังจะพูดถึงผลิตภัณท์จอยพวงมาลัยที่ประสบความสำเร็จชิ้นหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ และเจ้าตัวนี้เรียกได้ว่าเป็นตัวครูของใครหลายๆคน รวมไปถึงระดับโปรเพลเยอร์เลยทีเดียว เจ้าพวงมาลัยตัวนี้ เคยเป็นรุ่นที่ราคาคุ้มค่าที่สุดในยุคหนึ่ง เพราะมีระบบ Force Feedback (ต่อจากนี้ผมจะเรียกว่า FFB นะ) ที่พัฒนามาเป็นแบบสมัยใหม่ และให้การหมุนพวงมาลัยได้ถึง 900 องศาเลยทีเดียว

Logitech Driving Force GT

หลังการกำเนิดจอยพวงมาลัย FFB ในยุคใหม่ของ Logitech ทางบริษัทก็ได้ผลิตพวงมาลัยเข้าสู่ตลาด Mass หลายรุ่นด้วยกัน ซึ่งหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ทางบริษัท Logitech ได้ผลิตจอยรุ่นเรือธงของแบรนด์ในชื่อรุ่น Logitech G25 ซึ่งตัวนี้ได้ออกมาพร้อมระบบ FFB แบบใหม่ที่ทรงพลังกว่าเก่า และยังมาพร้อมกับอุปกรณ์ที่ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นแป้นเหยียบที่มีคลัชมาให้ หรือเกียร์แยกที่สามารถใช้ได้ 2 ระบบในชิ้นเดียว คือ “H-Shifter” และ “Sequential Shifter” แน่นอนว่าหลังจากนั้นทางบริษัทได้ตัดสินใจผลิต”รุ่นล่าง”ที่ชื่อว่า Logitech Driving Force GT ซึ่งเจ้านี่ได้รับการอัพเกรดขึ้นในเรื่องของระบบกลไกล FFB ใหม่จากรุ่น Logitech G25 ที่รองรับการหมุนรอบได้ 900 องศาสมบูรณ์ จากรุ่นเก่าที่สามารถหมุนได้เพียง 200 องศา (แต่สามารถปรับเป็น 900 ได้เช่นกัน)

สำหรับรหัสซีรีส์ที่ลงท้ายชื่อด้วยคำว่า ” GT “ นั้น มันต้องผลิตมาเพื่อเกมส์ Gran Turismo อย่างแน่นอน (แต่จริงๆใช้ได้ทุกเกมส์นะ) พวงมาลัยรุ่นนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Logitech และ Polyphony Digital เข้ามาทำการผลิตเพื่อเกมส์ Gran Turismo 5 ใน Playstation 3 (ใครที่อยากรู้ความเป็นมา สามารถเข้าไปอ่านในนี้ได้เลยครับ http://blog.logitech.com/2009/03/27/the-making-of-the-logitech-driving-force-gt )

สเปคของ Logitech Driving Force GT จะมีดังนี้

-หมุนได้ 900 องศา
-ตัวพวงมาลัยขนาด 11 นิ้ว
-ตอบสนอง Force Feedback ด้วยมอเตอร์ 1 ตัว
-ทดกำลังมอเตอร์ด้วยระบบเฟืองเกียร์
-มี Sequential Gearbox (ย้ายฝั่งไม่ได้)
-มีแป้นเหยียบเบรก/คันเร่ง
-เชื่อมต่อทางสาย USB และมี Adaptor ไฟเลี้ยง 24v 1 เส้น

นับตั้งแต่สมัยยุค Driving Force Pro ซึ่งเป็นพวงมาลัยที่ใช้กับ Playstation 2 กับเกมส์ Gran Turismo 4 มีคนกลุ่มนึงลองเอาพวงมาลัยต่อกับ PC ปรากฏว่ามันเกิดใช้งานได้ ซึ่งชาว Race Sim ในยุคนั้นก็ไม่ได้รอช้า ลองเอาเจ้า DFGT นี่ต่อเข้าไปกับ PC ปรากฏว่ามันใช้งานได้ครับ ! โดยเริ่มแรกยุคนั้น Logitech ยังไม่ได้ออก Driver ตัวรองรับมาสำหรับ PC แต่พอเสียบเข้าไป กลายเป็นมองเห็นว่าเป็น Driving Force Pro ซะงั้น และปุ่มต่างๆ ยังใช้ไม่ได้ครบ จนกระทั้ง Logitech ออก Driver มานั่นแหละ จึงทำให้ DFGT สามารถใช้งานได้ครบทุกฟังชั่น รวมไปถึงปุ่มหมุนสีแดงด้วย!

นี่จึงเป็นการเริ่มต้นตำนานใหม่ของพวงมาลัย 900 องศาราคาประหยัดจาก Logitech สำหรับคอเกมส์แข่งรถใน PC เลย (ในสมัยนั้นถ้าผมจำไม่ผิด ช่วงปี 2011 ผมซื้อมาประมาณ 4,900.- แต่มาเจอโปรลดราคาในตอนหลังแค่ 3,900.- เอง) ซึ่งในปัจจุบัน DFGT ได้หยุดไลน์การผลิตลงไปแล้วในช่วงปี 2016 จากการมาถึงของ PS4 และ Logitech G29

สำหรับเรื่องของหน้าตาและวัสดุในการผลิต

สำหรับเจ้า DFGT นั้นมากับพวงมาลัยหุ้มยางขนาด 11 นิ้ว ใช้การยึดโต๊ะแบบมาตราฐานของ Logitech ไม่มีรูสำหรับยึดแบบ Hard Mount กับรู Cockpit ทั้งตัวแป้นเหยียบและพวงมาลัย แต่ตัวแป้นเหยียบมีหนามเตย สำหรับยึดเกาะกับวัสดุประเภทผ้าหรือพรมและมีตัวถ่วงน้ำหนักอยู่ด้านล่างอีก 1 จุด สำหรับกันหงาย/กระดก แต่มันก็ไม่เหมาะกับการยึดกับ Cockpit สักเท่าไร ซึ่งคุณอาจจะต้องใช้เทปกาว 2 หน้ามาช่วยในการยึดติด หากคุณต้องการติดตั้งกับชุด Cockpit แบบแน่นๆ

หมุนๆ แล้วก็ยึดขอบโต๊ะไปเลย

สำหรับฟิลลิ่งการเหยียบแป้นเหยียบนั้นค่อนข้างที่จะเบา เพราะสปริงค่อนข้างทำมาอ่อนตั้งแต่โรงงาน แต่ยังสามารถ Mod เพิ่มความแข็งได้นิดหน่อย (ได้แข็งประมาณแป้นเหยียบของ G27) ซึ่งสามารถดูได้ใน Link นี้ครับ https://www.overclockzone.com/forums/showthread.php/1872969

แป้นเหยียบที่ได้ต้นแบบมาจากรุ่นพี่
ด้านล่างมีเหล็กถ่วงน้ำหนัก ทำให้เหยียบแล้วไม่กระดก
หนามเตยแบบพับเก็บได้ สำหรับยึดกับพรม

สำหรับตัวเกียร์นั้น พวงมาลัยนี้มีให้มา 2 ระบบ เป็นแบบ Paddle Shift และแบบ Sequential Gearbox ซึ่งตัวเกียร์ SQ นั้นจะอยู่ทางด้านขวาและไม่สามารถย้ายมาไว้ฝั่งซ้ายได้ ส่วนตัว Paddle Shift นั้นจะหลบอยู่ด้านหลังพวงมาลัย ไม่ยื่นออกมาแบบพวงมาลัยรุ่นปัจจุบันอื่นๆ ซึ่งทำให้การกดใช้ Paddle Shift นั้นค่อนข้างลำบากพอสมควร

Sequential Gearbox
Paddle Shift ที่น่าจะเรียกว่าปุ่มกดซะมากกว่า

มาถึงในส่วนของ FFB ค่อนข้างให้การตอบสนองทั่วไปได้ดี สำหรับระบบ FFB ตัวนี้ยังใช้กันมาถึงรุ่นใหญ่ของ Logitech ในปัจจุบัน แต่จะต่างกับรุ่นใหม่ๆตรงที่ภายในยังเป็นระบบเฟืองธรรมดาอยู่ แต่รุ่นใหม่ๆตั้งแต่ G27 เป็นต้นไป ข้างในจะเป็นระบบเฟืองแบบตัดเฉียงแล้ว ซึ่งทำให้เสียงรบกวนระหว่างการเล่นนั้นลดลงไปพอสมควร ส่วนข้อเสียของระบบ FFB ในแบบเฟืองนั้นคือเรื่องของ GAB ในระบบ ที่จะทำให้ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างการขับมีอาการเหวอเล็กน้อย และยังมีเสียงรบกวนแบบฟื้ดๆ แกร๊ดๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าให้เทียบกับระบบสายพานในจอยรุ่นใหม่ๆอาจจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดและรำคาณได้บ้าง

ระบบเฟืองเกียร์ทดรอบ

ถ้าให้เทียบกับจอยของ Logitech ในรุ่นใหม่ๆอย่างพวก G27 หรือ G29/G920 ตัว FFB ในรุ่นนี้ถือว่าแทบไม่ต่างกัน หรือแทบแยกไม่ออก ถ้าไม่ฟังเรื่องเสียงในการรบกวน และความเร็วรอบ(RPM)ในการตีพวงมาลัยกลับ

สำหรับในส่วนตำแหน่งการวาง Sensor ของเจ้า DFGT นั้นจะไม่ได้วางไว้ด้านหลังมอเตอร์แบบรุ่นที่มี 2 มอเตอร์(G25/G27/G29) ทำให้ไม่ค่อยเจอปัญหา Sensor หักแบบรุ่นใหม่ๆสักเท่าไร

มอเตอร์เดียวแต่ให้พลังเท่ารุ่นใหญ่อย่าง G25/G27 ได้ !

และในส่วนการผลิตนั้นตัวพวงมาลัยจะออกมาเป็น 2 รุ่น ซึ่งรุ่นเก่าจะเป็นกล่องสีเขียวและรุ่นใหม่จะเป็นกล่องสีฟ้า-ดำ(Minorchange) และจะใช้ Optical Encoder คนละแบบกัน ซึ่งแบบเก่ามีรูสำหรับอ่านค่าตำแหน่ง Sensor 60 Slot และรุ่นใหม่ จะลดจำนวนรู Sensor ลงเหลือเพียง 30 Slot เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเดิม

หน้าตา Optical Encoder แบบ 60 Slot
Optical Encoder สำหรับเปลี่ยนแบบทองเหลือง หาซื้อมาเปลี่ยนเองได้ไม่ยาก ทนทานสุดๆ

เอาละครับมาดูสรุปกันเลยดีกว่า

ข้อดี
-พวงมาลัยมีขนาด 11 นิ้ว และหุ้มด้วยยางคุณภาพสูง
-หมุนได้ 900 องศา
-ปุ่มเยอะดี แถมมีแตรด้วย
-Force Feedback เหมือนรุ่นสูงๆของ Logitech ในปัจจุบัน
-มีเกียร์ Sequential และ Paddle Shift
-คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

ข้อเสีย
-แป้นเหยียบเบามาก
-Paddle Shift กดยาก
-Sequential Gearbox ไม่สามารถย้ายฝั่งได้
-รอบการตีกลับ(RPM)ช้ากว่ารุ่นใหญ่ของค่ายนิดหน่อย
-ไม่เหมาะกับการใช้กับ Cockpit เหมาะกับยึดโต๊ะมากกว่า
-มี Gab ในระบบระบบเฟือง
-ไม่รองรับ PS4

สรุปว่าเป็นตัวที่คุ้มค่า ถ้าคุณยังหามือสองได้ ซึ่งราคามือสองที่ถูกสุดเท่าที่เคยเห็นจะอยู่ที่ราวๆ 2,xxx – 3,xxx ครับ สามารถเอามาใช้เป็นตัวครูสำหรับเริ่มเล่น Race Simulator ได้เลย แต่จะติดอยู่เรื่องนึง ถ้าหากจะเอาไปใช้งานก็คงใช้ได้แค่กับทาง PC เท่านั้นครับ เพราะตัวพวงมาลัยได้ถูกลอยแพ จากระบบคอนโซลตั้งแต่ยุค PS4 แล้ว

เอาเป็นว่าขอฝากไว้อีกอย่างนึงนะครับ “จอยเกม ไม่ได้ลอง ไม่ได้เล่น อย่าซื้อ” (โดยคุณ Beaver_XT)

วันนี้ต้องขอลาทุกคนไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ //แอดเหมียว

ปล.บทความนี้ได้แรงบัลดาลใจ และการเริ่มต้นเล่น Sim จากท่าน Beaver_XT (ผู้ดึงผมเข้าสู่วงการนี้) สนใจอ่านรีวิวที่ท่านบีเวอร์รีวิวไว้ได้ที่นี่ครับ https://www.overclockzone.com/forums/showthread.php/1041809

กล่องซ้ายสีเขียวเป็นรุ่นแรก Optical 60slot กล่องขวาเป็นรุ่นใหม่ 30Slot