สินค้า simulator

กิจกรรม

การแข่งขัน

แนะนำอุปกรณ์

ทดลองอุปกรณ์

Categories
บทความทั่วไป รีวิว พรีวิว

เจาะลึก/รีวิว Logitech Driving Force GT

สวัสดีครับ ช่วงนี้กลุ่ม Race Sim กำลังคึกคัก เริ่มมีคนสนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับจอยพวงมาลัยที่มีระบบ Force Feedback กันมากขึ้นจนทำให้ตอนนี้ราคาจอยพวงมาลัยเพิ่มขึ้นมากพอสมควร (รวมไปถึงจอยพวงมาลัยที่ไม่มี Force Feedback ด้วย) ผมจึงอยากให้ผู้เล่นใหม่ทุกท่าน ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของจอยพวงมาลัยแต่ละตัวก่อนซื้อกันด้วย เพื่อไม่ให้เสียเงิน และเสียเวลาไปกับจอยที่ไม่มี Force Feedback กันครับ

เอาล่ะครับมาเริ่มกันเลยดีกว่า

ในวันนี้เรากำลังจะพูดถึงผลิตภัณท์จอยพวงมาลัยที่ประสบความสำเร็จชิ้นหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ และเจ้าตัวนี้เรียกได้ว่าเป็นตัวครูของใครหลายๆคน รวมไปถึงระดับโปรเพลเยอร์เลยทีเดียว เจ้าพวงมาลัยตัวนี้ เคยเป็นรุ่นที่ราคาคุ้มค่าที่สุดในยุคหนึ่ง เพราะมีระบบ Force Feedback (ต่อจากนี้ผมจะเรียกว่า FFB นะ) ที่พัฒนามาเป็นแบบสมัยใหม่ และให้การหมุนพวงมาลัยได้ถึง 900 องศาเลยทีเดียว

Logitech Driving Force GT

หลังการกำเนิดจอยพวงมาลัย FFB ในยุคใหม่ของ Logitech ทางบริษัทก็ได้ผลิตพวงมาลัยเข้าสู่ตลาด Mass หลายรุ่นด้วยกัน ซึ่งหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ทางบริษัท Logitech ได้ผลิตจอยรุ่นเรือธงของแบรนด์ในชื่อรุ่น Logitech G25 ซึ่งตัวนี้ได้ออกมาพร้อมระบบ FFB แบบใหม่ที่ทรงพลังกว่าเก่า และยังมาพร้อมกับอุปกรณ์ที่ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นแป้นเหยียบที่มีคลัชมาให้ หรือเกียร์แยกที่สามารถใช้ได้ 2 ระบบในชิ้นเดียว คือ “H-Shifter” และ “Sequential Shifter” แน่นอนว่าหลังจากนั้นทางบริษัทได้ตัดสินใจผลิต”รุ่นล่าง”ที่ชื่อว่า Logitech Driving Force GT ซึ่งเจ้านี่ได้รับการอัพเกรดขึ้นในเรื่องของระบบกลไกล FFB ใหม่จากรุ่น Logitech G25 ที่รองรับการหมุนรอบได้ 900 องศาสมบูรณ์ จากรุ่นเก่าที่สามารถหมุนได้เพียง 200 องศา (แต่สามารถปรับเป็น 900 ได้เช่นกัน)

สำหรับรหัสซีรีส์ที่ลงท้ายชื่อด้วยคำว่า ” GT “ นั้น มันต้องผลิตมาเพื่อเกมส์ Gran Turismo อย่างแน่นอน (แต่จริงๆใช้ได้ทุกเกมส์นะ) พวงมาลัยรุ่นนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Logitech และ Polyphony Digital เข้ามาทำการผลิตเพื่อเกมส์ Gran Turismo 5 ใน Playstation 3 (ใครที่อยากรู้ความเป็นมา สามารถเข้าไปอ่านในนี้ได้เลยครับ http://blog.logitech.com/2009/03/27/the-making-of-the-logitech-driving-force-gt )

สเปคของ Logitech Driving Force GT จะมีดังนี้

-หมุนได้ 900 องศา
-ตัวพวงมาลัยขนาด 11 นิ้ว
-ตอบสนอง Force Feedback ด้วยมอเตอร์ 1 ตัว
-ทดกำลังมอเตอร์ด้วยระบบเฟืองเกียร์
-มี Sequential Gearbox (ย้ายฝั่งไม่ได้)
-มีแป้นเหยียบเบรก/คันเร่ง
-เชื่อมต่อทางสาย USB และมี Adaptor ไฟเลี้ยง 24v 1 เส้น

นับตั้งแต่สมัยยุค Driving Force Pro ซึ่งเป็นพวงมาลัยที่ใช้กับ Playstation 2 กับเกมส์ Gran Turismo 4 มีคนกลุ่มนึงลองเอาพวงมาลัยต่อกับ PC ปรากฏว่ามันเกิดใช้งานได้ ซึ่งชาว Race Sim ในยุคนั้นก็ไม่ได้รอช้า ลองเอาเจ้า DFGT นี่ต่อเข้าไปกับ PC ปรากฏว่ามันใช้งานได้ครับ ! โดยเริ่มแรกยุคนั้น Logitech ยังไม่ได้ออก Driver ตัวรองรับมาสำหรับ PC แต่พอเสียบเข้าไป กลายเป็นมองเห็นว่าเป็น Driving Force Pro ซะงั้น และปุ่มต่างๆ ยังใช้ไม่ได้ครบ จนกระทั้ง Logitech ออก Driver มานั่นแหละ จึงทำให้ DFGT สามารถใช้งานได้ครบทุกฟังชั่น รวมไปถึงปุ่มหมุนสีแดงด้วย!

นี่จึงเป็นการเริ่มต้นตำนานใหม่ของพวงมาลัย 900 องศาราคาประหยัดจาก Logitech สำหรับคอเกมส์แข่งรถใน PC เลย (ในสมัยนั้นถ้าผมจำไม่ผิด ช่วงปี 2011 ผมซื้อมาประมาณ 4,900.- แต่มาเจอโปรลดราคาในตอนหลังแค่ 3,900.- เอง) ซึ่งในปัจจุบัน DFGT ได้หยุดไลน์การผลิตลงไปแล้วในช่วงปี 2016 จากการมาถึงของ PS4 และ Logitech G29

สำหรับเรื่องของหน้าตาและวัสดุในการผลิต

สำหรับเจ้า DFGT นั้นมากับพวงมาลัยหุ้มยางขนาด 11 นิ้ว ใช้การยึดโต๊ะแบบมาตราฐานของ Logitech ไม่มีรูสำหรับยึดแบบ Hard Mount กับรู Cockpit ทั้งตัวแป้นเหยียบและพวงมาลัย แต่ตัวแป้นเหยียบมีหนามเตย สำหรับยึดเกาะกับวัสดุประเภทผ้าหรือพรมและมีตัวถ่วงน้ำหนักอยู่ด้านล่างอีก 1 จุด สำหรับกันหงาย/กระดก แต่มันก็ไม่เหมาะกับการยึดกับ Cockpit สักเท่าไร ซึ่งคุณอาจจะต้องใช้เทปกาว 2 หน้ามาช่วยในการยึดติด หากคุณต้องการติดตั้งกับชุด Cockpit แบบแน่นๆ

หมุนๆ แล้วก็ยึดขอบโต๊ะไปเลย

สำหรับฟิลลิ่งการเหยียบแป้นเหยียบนั้นค่อนข้างที่จะเบา เพราะสปริงค่อนข้างทำมาอ่อนตั้งแต่โรงงาน แต่ยังสามารถ Mod เพิ่มความแข็งได้นิดหน่อย (ได้แข็งประมาณแป้นเหยียบของ G27) ซึ่งสามารถดูได้ใน Link นี้ครับ https://www.overclockzone.com/forums/showthread.php/1872969

แป้นเหยียบที่ได้ต้นแบบมาจากรุ่นพี่
ด้านล่างมีเหล็กถ่วงน้ำหนัก ทำให้เหยียบแล้วไม่กระดก
หนามเตยแบบพับเก็บได้ สำหรับยึดกับพรม

สำหรับตัวเกียร์นั้น พวงมาลัยนี้มีให้มา 2 ระบบ เป็นแบบ Paddle Shift และแบบ Sequential Gearbox ซึ่งตัวเกียร์ SQ นั้นจะอยู่ทางด้านขวาและไม่สามารถย้ายมาไว้ฝั่งซ้ายได้ ส่วนตัว Paddle Shift นั้นจะหลบอยู่ด้านหลังพวงมาลัย ไม่ยื่นออกมาแบบพวงมาลัยรุ่นปัจจุบันอื่นๆ ซึ่งทำให้การกดใช้ Paddle Shift นั้นค่อนข้างลำบากพอสมควร

Sequential Gearbox
Paddle Shift ที่น่าจะเรียกว่าปุ่มกดซะมากกว่า

มาถึงในส่วนของ FFB ค่อนข้างให้การตอบสนองทั่วไปได้ดี สำหรับระบบ FFB ตัวนี้ยังใช้กันมาถึงรุ่นใหญ่ของ Logitech ในปัจจุบัน แต่จะต่างกับรุ่นใหม่ๆตรงที่ภายในยังเป็นระบบเฟืองธรรมดาอยู่ แต่รุ่นใหม่ๆตั้งแต่ G27 เป็นต้นไป ข้างในจะเป็นระบบเฟืองแบบตัดเฉียงแล้ว ซึ่งทำให้เสียงรบกวนระหว่างการเล่นนั้นลดลงไปพอสมควร ส่วนข้อเสียของระบบ FFB ในแบบเฟืองนั้นคือเรื่องของ GAB ในระบบ ที่จะทำให้ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างการขับมีอาการเหวอเล็กน้อย และยังมีเสียงรบกวนแบบฟื้ดๆ แกร๊ดๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าให้เทียบกับระบบสายพานในจอยรุ่นใหม่ๆอาจจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดและรำคาณได้บ้าง

ระบบเฟืองเกียร์ทดรอบ

ถ้าให้เทียบกับจอยของ Logitech ในรุ่นใหม่ๆอย่างพวก G27 หรือ G29/G920 ตัว FFB ในรุ่นนี้ถือว่าแทบไม่ต่างกัน หรือแทบแยกไม่ออก ถ้าไม่ฟังเรื่องเสียงในการรบกวน และความเร็วรอบ(RPM)ในการตีพวงมาลัยกลับ

สำหรับในส่วนตำแหน่งการวาง Sensor ของเจ้า DFGT นั้นจะไม่ได้วางไว้ด้านหลังมอเตอร์แบบรุ่นที่มี 2 มอเตอร์(G25/G27/G29) ทำให้ไม่ค่อยเจอปัญหา Sensor หักแบบรุ่นใหม่ๆสักเท่าไร

มอเตอร์เดียวแต่ให้พลังเท่ารุ่นใหญ่อย่าง G25/G27 ได้ !

และในส่วนการผลิตนั้นตัวพวงมาลัยจะออกมาเป็น 2 รุ่น ซึ่งรุ่นเก่าจะเป็นกล่องสีเขียวและรุ่นใหม่จะเป็นกล่องสีฟ้า-ดำ(Minorchange) และจะใช้ Optical Encoder คนละแบบกัน ซึ่งแบบเก่ามีรูสำหรับอ่านค่าตำแหน่ง Sensor 60 Slot และรุ่นใหม่ จะลดจำนวนรู Sensor ลงเหลือเพียง 30 Slot เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเดิม

หน้าตา Optical Encoder แบบ 60 Slot
Optical Encoder สำหรับเปลี่ยนแบบทองเหลือง หาซื้อมาเปลี่ยนเองได้ไม่ยาก ทนทานสุดๆ

เอาละครับมาดูสรุปกันเลยดีกว่า

ข้อดี
-พวงมาลัยมีขนาด 11 นิ้ว และหุ้มด้วยยางคุณภาพสูง
-หมุนได้ 900 องศา
-ปุ่มเยอะดี แถมมีแตรด้วย
-Force Feedback เหมือนรุ่นสูงๆของ Logitech ในปัจจุบัน
-มีเกียร์ Sequential และ Paddle Shift
-คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

ข้อเสีย
-แป้นเหยียบเบามาก
-Paddle Shift กดยาก
-Sequential Gearbox ไม่สามารถย้ายฝั่งได้
-รอบการตีกลับ(RPM)ช้ากว่ารุ่นใหญ่ของค่ายนิดหน่อย
-ไม่เหมาะกับการใช้กับ Cockpit เหมาะกับยึดโต๊ะมากกว่า
-มี Gab ในระบบระบบเฟือง
-ไม่รองรับ PS4

สรุปว่าเป็นตัวที่คุ้มค่า ถ้าคุณยังหามือสองได้ ซึ่งราคามือสองที่ถูกสุดเท่าที่เคยเห็นจะอยู่ที่ราวๆ 2,xxx – 3,xxx ครับ สามารถเอามาใช้เป็นตัวครูสำหรับเริ่มเล่น Race Simulator ได้เลย แต่จะติดอยู่เรื่องนึง ถ้าหากจะเอาไปใช้งานก็คงใช้ได้แค่กับทาง PC เท่านั้นครับ เพราะตัวพวงมาลัยได้ถูกลอยแพ จากระบบคอนโซลตั้งแต่ยุค PS4 แล้ว

เอาเป็นว่าขอฝากไว้อีกอย่างนึงนะครับ “จอยเกม ไม่ได้ลอง ไม่ได้เล่น อย่าซื้อ” (โดยคุณ Beaver_XT)

วันนี้ต้องขอลาทุกคนไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ //แอดเหมียว

ปล.บทความนี้ได้แรงบัลดาลใจ และการเริ่มต้นเล่น Sim จากท่าน Beaver_XT (ผู้ดึงผมเข้าสู่วงการนี้) สนใจอ่านรีวิวที่ท่านบีเวอร์รีวิวไว้ได้ที่นี่ครับ https://www.overclockzone.com/forums/showthread.php/1041809

กล่องซ้ายสีเขียวเป็นรุ่นแรก Optical 60slot กล่องขวาเป็นรุ่นใหม่ 30Slot
Categories
บทความทั่วไป รีวิว พรีวิว

วิวัฒนาการของพวงมาลัย Logitech

Logitech กับ Logicool อันเดียวกันนะ

พูดถึงจอยพวงมาลัยยี่ห้อที่ทุกคนคงจะคุ้นหูมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นเจ้าพวงมาลัยยี่ห้อดัง ” Logitech “ ที่แฟนๆชาว Racing น่าจะเคยได้ลองสัมผัสหรือเคยได้ยินชื่อกันเป็นแน่แท้ แต่ประวัติการเดินทางอันยาวนานของไลน์การผลิตจอยพวงมาลัย หรือด้านการพัฒนาด้าน FFB ของพวงมาลัยยี่ห้อนี้หลายๆคน คงไม่ค่อยได้ยินกันแน่ๆ เราไปดูกันดีกว่าครับ ว่าเจ้า ” Logitech ” หรือ ” Logicool “ นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไรกันบ้างครับ

ขับขี่ปลอดภัย ใช้ระบบ Simulator

ในยุคแรก

Logitech ได้สร้างจอยพวงมาลัยออกมา แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าไร ในชื่อรุ่น Logitech Wingman Formula โดยออกทั้งหมดสามสี เหลือง/แดง/ดำ และมีระบบ FFB แรงต้านและแรงตอบสนองแบบการสั่น แต่ทว่าในบางตัวนั้นยังใช้การเชื่อมต่อแบบ Serial Port(โบราณ)อยู่ ไม่มี USB Port (ช่วงนั้นเป็นยุคที่ USB กำลังเริ่มใช้กันยุคแรกๆ) สำหรับตัวพวงมาลัยหมุนได้ 200 องศา

Logitech Wingman Formula ซีรีส์

Logitech Wingman Formula (1998)

ซึ่งในปีถัดมาได้มีการพัฒนาต่อในรุ่น GP ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อแบบ USB ล้วนๆเลย แต่ผลิตออกมามีแต่สีเหลือง มีแป้นเหยียบที่หน้าตาดีขึ้น มี USB Port แท้ๆแบบในยุคใหม่แต่ยังคงหมุนได้ 200 องศาเช่นเดิม

Logitech Wingman Formula GP (1999)

ในปีต่อมาทำออกมาเฉพาะสีแดง มี FFB และ USB เสียบคอมเหมือนรุ่นปีที่แล้ว

Logitech Wingman Force GP (2000)

ยุค Driving Force ซีรีส์

Logitech Driving Force หรือ GT Force (2001)
คราวนี้ Logitech ได้รีแบรนด์จากซีรีส์ของ Wingman ไปสู่ Driving Force ด้วยการเปลี่ยนเป็นพวงมาลัยสีฟ้า พร้อมกับตีตราโลโก้ ” Gran Turismo ” นับว่าเป็นพวงแรกที่ได้ Official ของเกมส์ Gran Turismo (ตอนนั้นภาค 3)(PS2) มี USB ระบบ FFB หมุน 200 องศา และยังมีเกียร์ Paddle Shift ติดหลังพวงมาด้วย (รุ่นนี้มีตัว Limited ที่เป็นกล่องแบบ Initial D ด้วย)

Logitech Driving Force หรือ GT Force

Logitech Momo (2002)
คราวนี้เป็นทางของฝั่ง PC บ้าง เพื่อไม่ให้น้อยหน้าทางฝั่ง Playstation ทาง Logitech ได้ขอลิขสิทธิ์จากทาง MOMO มีการพัฒนาระบบ FFB ลงใน PC เช่นกัน และมีการเพิ่มเกียร์ Sequential ที่สามารถเลือกฝั่งในการติด (ซ้าย-ขวา) พัฒนาแป้นเหยียบขึ้นอีกระดับจาก Driving Force พร้อมทั้งปรับปรุงจุดยึดพวงด้านบนเป็นแบบยึด 3 จุดด้วย พวงมาลัยยังคงหมุนได้ 200 องศาเหมือนเดิม ขนาดเส้นรอบวงพวงมาลัย 10 นิ้ว

Logitech Momo

Logitech Speed Force Feedback (2002)
คราวนี้ได้ออกพวงมาลัยมาสำหรับค่ายเกมส์ Nintendo อย่าง Gamecube ระบบภายในยังแบบ FFB ยุคเก่าเหมือนรุ่นพี่อย่าง Momo และ Driving Force

มีแป้นเหยียบมาให้ด้วยนะ แต่หารูปสวยๆไม่เจอ ยังคงใช้แป้นแบบเดิมกับรุ่นเก่าๆ

Logitech Nascar Racing (2004)
อันนี้ออกแบบมาให้ใช้ได้ทั้ง 3 Platform ทั้ง PC/PS2 และ Xbox แต่ยังคงใช้ระบบ FFB เดิมๆจากรุ่นพี่อยู่เช่นกัน

Logitech Nascar Racing

Logitech Driving Force Pro (2004)
ด้วยการมาของ Gran Turismo 4 ตัวพวงมาลัย Official ของ Logitech ก็ได้ออกมาในเวอร์ชั่นพัฒนาใหม่ที่สามารถ(ปลดล๊อค)หมุนได้ 900 องศา จากเดิมที่พวงมาลัยที่หมุนได้เพียง 200 องศา นับว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการจอยพวงมาลัยเลยทีเดียว (แต่เอาไปเล่นกับ GT4 มันไม่รองรับระบบ 900 องศา ต้องปรับโหมดไป 200 องศาเท่านั้น 555+) สำหรับเจ้าตัวนี้มียังคงใช้พวงมาลัยขนาด 10 นิ้ว มีเกียร์ Paddle Shift และมีเกียร์ Sequential ต้นแบบที่ยังใช้กันต่อมาถึงรุ่น DFGT เลย (รุ่นนี้มีตัวที่เป็นกล่องแบบ Sega Rally ด้วย)

Logitech Driving Force Pro

Logitech Driving Force EX PS3(2006)
ด้วยการเปิดตัวของ Playstation 3 ก็ได้ถึงเวลาลอยลำพวงมาลัยตัวเก่าซึ่งคราวนี้สามารถหมุนได้แค่ 200 องศาเท่านั้น(อ้าวว) กับพวงมาลัย ขนาด 10 นิ้วเท่าเดิม

Logitech Driving Force EX

Logitech Driving Force FX Xbox360 (2006)
เหมือนตัวข้างบนทุกอย่าง ยกเว้นสามารถใช้กับ Xbox360 ได้

Logitech Driving Force FX

Logitech G25 (2006)
และแล้วก็ได้เข้าสู่ยุคทองของพวงมาลัย Logitech คราวนี้มาแบบ Option จัดเต็มพวงมาลัยหุ้มหนัง มีเกียร์แยกที่สามารถปรับเป็น H-Shifter หรือ Sequential ได้ในอันเดียวกัน แถมยังมีแป้นเหยียบพร้อมคลัช มากับระบบ FFB ระบบยุคใหม่ (ยังใช้ถึงปัจจุบัน) พวงมาลัยหมุนได้แบบ 900 องศาสมบูรณ์ (FFB ไม่เบาลงเหมือนพวก Driving Force Pro)และน้ำหนักขึ้นชกของพวงมาลัยในรอบนี้ 11 นิ้วไปเลยจ้าาา

Logitech G25

Logitech Driving Force GT (2007)
คราวนี้รุ่นเล็กมีพัฒนาระบบ FFB บ้าง ให้ก้าวกระโดดไปกว่าตัวเก่า (Driving Force Pro) เรี่ยวแรงเยอะกว่า หมุนไวกว่า ทำให้รายละเอียดออกมาได้เยอะกว่า พอๆกับรุ่นพี่ G25 เลยทีเดียว น้ำหนักขึ้นชกที่ 900 องศา / 11 นิ้ว เป็นรุ่นที่นิยมแพร่หลายมากกกกก เป็นตัวเริ่มต้นที่คุ้มค่าที่สุดในยุคนี้แล้ว (ถ้ายังหาได้)

Logitech Driving Force GT

Logitech Wii Speed Force (2008)
รุ่นที่ใช้ Wireless กับเครื่อง Wii ได้ แต่ไม่มีแป้นเหยียบ ?? WTF

Logitech Wii Speed Force

Logitech Driving Force Wireless (2008)
เหมือนกะไอ้ข้างบนนั่นแหละ ไม่มีแป้นเหยียบ แต่เอาไว้ต่อเล่น Wireless กับ PC หรือ PS3 ได้

Logitech Driving Force Wireless

Logitech G27 (2010)
ตัวยอดนิยมตลอดกาลอีกแล้ว ถึงขนาดเคยมีคนพูดว่า “ถ้าคุณเป็นแฟนเกมส์ Racing ตัวจริง ต้องมี G27 ติดบ้าน” ตัวนี้ได้รับการอัพเกรดใหญ่เป็นระบบเฟืองแบบตัดเฉียง เพื่อลดเสียงรบกวนขณะขับ (แต่เวลาชนกำแพงหรือกระแทกอะไรหนักๆก็ยังมีเสียงดังรบกวนบ้าง) มีเพิ่มไฟ LED Shifter ที่ตัวพวง แต่ว่าๆๆ เกียร์ Sequential มันหายไปแล้ว… (อ้าวว ??) ยังคงใช้การหมุนที่ 900 องศาเท่าเดิม ส่วนตัวพวงก็ 11 นิ้วนะจ้ะ

Logitech G27

Logitech G29 (2015)
และแล้วก็ถึงรุ่นล่าสุด.. การมาของตัวนี้ทำให้ DFGT และ G27 ต้องหยุดผลิตไปเพราะพวงมาลัยรุ่นเก่าๆจะไม่ได้รับรองกับระบบ PS4 ซึ่งรุ่นนี้ในกล่องไม่มีเกียร์แถมมาให้ แถมราคาแพงกว่าเดิมด้วย ระบบก็ยังคงใช้แบบเดียวกับ G27 เพิ่มเติมคือเปลี่ยนจาก Optical Sensor เป็นแบบ Hall Effect Sensor และมีปุ่มเยอะขึ้นแบบ DFGT (เหมือนเอามารวมร่างกัน) และแป้นเหยียบมีการใส่ลูกยางเพิ่มเข้าไปเพื่อให้คล้ายกับแป้นเหยียบ Load Cell (แต่ก็ยังไม่ดีเท่า แถมแข็งเกินไปด้วย) และถ้าอยากใช้เกียร์แยกต้องไปซื้อเพิ่มเท่านั้น หรือถ้ามีเกียร์ของรุ่นเก่าก็สามารถใช้เกียร์ของ G25/G27 ของเดิมใส่ได้อยู่นะ..

Logitech G29

Logitech G920 (2015)
เหมือนตัวข้างบนแต่ใช้กะ PC และ Xbox

Logitech G920 (2015)

Logitech G Driving Force H-Shifter

เอาละครับก็จบกันไปแล้วสำหรับประวัติของจอยพวงมาลัย Logitech สำหรับใครที่กำลังมองหาของมือสองอยู่ แอดเหมียวแนะนำว่าให้เริ่มมองๆตั้งแต่รุ่นยุคใหม่อย่าง G25 หรือ Driving Force GT ขึ้นไปนะครับ เพราะจะเป็นรุ่นที่ระบบ FFB ยังคงเป็นระบบปัจจุบันอยู่ แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าๆ อาจจะให้การตอบสนองได้ไม่ดีเท่าระบบใหม่ๆนะครับ และที่สำคัญคือเรื่องของ Driver ที่อาจจะไม่รองรับ Windows 10 อีก ยังไงก็ขอให้ลองสอบถามเพื่อนๆในกลุ่มดูอีกทีก่อนซื้อขาย เพื่อให้ไม่เสียเงินและเวลาฟรีกันนะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณครับ //แอดเหมียว

Categories
บทความทั่วไป

Logitech DFGT Disassembly รื้อมาทำความสะอาดกันเถอะ !

Driving Force GT จอยรุ่นที่ประสบความสำเร็จสูงจาก Logitech อีก 1 ตัว เป็นจอยที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยากสัมผัสระบบ FFB(Force Feedback) ในระดับเริ่มต้น ที่ราคาไม่สูงมาก ให้ฟิลลิ่งใกล้เคียงกับรุ่นใหญ่ของแบรนด์อย่าง Logitech G25/G27/G29 พร้อมกับการหมุนได้ 900 องศา

เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 2007 และปัจจุบันได้เลิกผลิตไปแล้ว แต่ยังคงเหลือในตลาดมือสองได้ทั่วๆไป โดยปัจจุบันนี้ ตัวพวงมาลัยนั้น ไม่รองรับเครื่องเล่น PS4 แล้ว แต่ยังคงใช้กับเกมส์ PC ได้

ตัวผลิตภัณท์นี้จะออกมาเป็นรุ่นกล่องเขียว (เก่า) และกล่องดำ-ฟ้า (ใหม่) โดยรุ่นใหม่นั้นจะมีการอัพเกรดตัว Optical Encoder ให้มีความแข็งแรงขึ้น ทนต่อการหักได้มากกว่ารุ่นเก่า

ติดตามรีวิวเต็มๆได้ในคลิปถัดไปครับ